“ชาวบ้านป่าผาก สูญเสียที่ดินทำกินจากการดำเนินโครงการของหน่วยงานรัฐ”

“ชาวบ้านป่าผาก สูญเสียที่ดินทำกินจากการดำเนินโครงการของหน่วยงานรัฐ”

“ชาวบ้านป่าผาก สูญเสียที่ดินทำกินจากการดำเนินโครงการของหน่วยงานรัฐ”

บันทึกสถานการณ์ เหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนชนเผ่าพื้นเมือง โดย เครือข่ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย กรณี “ชาวบ้านป่าผาก สูญเสียที่ดินทำกินจากการดำเนินโครงการของหน่วยงานรัฐ”

สาระสำคัญ

บ้านป่าผาก หมู่ 2 ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิม ตั้งถิ่นฐานมานานกว่า 200 ปี อยู่อาศัยและและทำกินแบบไร่หมุนเวียนมาโดยตลอด โดยมิได้ทำลายป่าแต่อย่างใด จนกระทั่งเมื่อปี เมื่อปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา มีหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานเข้าไปดำเนินโครงการทับที่ดินทำกินของชาวป่าผาก ส่งผลให้ชาวบ้านอย่างน้อย 14 ครอบครัวสูญเสียที่ดินทำกินถาวร รวมแล้วประมาณ 3000 ไร่

                ปัญหานี้ได้มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ (กสม.) เมื่อปี พ.ศ. 2547 โดยภายหลังจากที่ กสม. ใช้เวลาตรวจสอบประมาณ 2 ปี ได้มีมติว่า “การดำเนินโครงการของหน่วยงานรัฐในพื้นที่ดังกล่าว เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแร้ง” พร้อมทั้งเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน และชดเชยค่าความเสียหายแก่ชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าผาก ภายใน 90 วัน นับแต่วันได้รับรายงานจาก กสม.”

                อย่างไรก็ตาม นับแต่นั้นมา ชาวบ้านได้รับการจัดสรรที่ดินอย่างกระจุกตัวเพียง 50 ไร่ สำหรับ 14 ครอบครัว และมีเพียงไม่กี่รายที่ได้รับเงินเยียวยาจากคหบดีในพื้นที่ ขณะนี้การดำเนินโรงการของรัฐบางโครงการได้สิ้นสุดลงแล้ว ชาวบ้านจึงได้รวมตัวเพื่อขอคืนพื้นที่ตามเดิมอีกครั้ง โดยได้เข้าร่วมเจรจากับคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านอนุกรรมการที่เป็นผู้แทนจากขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ

ความเป็นมา

บ้านป่าผากองค์พระ  ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง เดิมเป็นตำบลองค์พระ ขึ้นกับกิ่งอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี มีประชากรประมาณ 40 กว่าหลังคาเรือน ตั้งชุมชนและสืบทอดวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงต่อกันมากว่า 220 ปี ดังปรากฎหลักฐานตามหนังสือของอำมาตย์เอกขุนอนุพิศวิถีถาร แม่กองรังวัดภูมิประเทศในสนาม ฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2463 ปรากฎว่ามีชุมชนกะเหรี่ยงบ้านป่าผากองค์พระอยู่แล้ว

                เหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่นี่ เป็นกรณีสะท้อนการละเมิดสิทธิชุมชนโดยงานรัฐที่ชัดเจนมากอีกกรณีหนึ่ง จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ใช้คำว่า “เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง[i]” เป็นการแสดงให้เห็นว่าหน่ายงานรัฐที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ไม่จริงใจที่จะรับฟังเสียงชาวบ้าน และปัดความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาโดยตลอดมา

                การลิดรอนสิทธิในที่ดินของชาวบ้านป่าผาก และชุมชนใกล้เคียงเริ่มต้นมาอย่างยาวนาน เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 มีการประกาศป่าสงวนททับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ชื่อ “ป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำ และป่าเขาห้วยพลู” เป็นการยกอำนาจให้รัฐตัดสินใจเรื่องที่ดินอย่างเต็มที่ ขณะที่ชาวบ้านก็กลายเป็นผู้อยู่อาศัยอย่างผิดกฎหมาย แม้ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 จะมีการเพิกถอนพื้นที่บางส่วนออกจากป่าสงวนเพื่อนำมาจัดสรรเป็นที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร แต่ชาวป่าผากก็ไม่ได้รับสิทธินั้น มิหนำซ้ำในปี พ.ศ. 2541 พื้นที่เดิมถูกยกระดับเป็นเขตอุทยานแก่งชาติพุเตย ทำให้ชาวบ้านเริ่มถูกจับเพราะเข้าไปทำกินในพื้นที่อนุรักษ์ที่เพิ่งประกาศทับที่ดินทำกินของตนเองเพียงไม่กี่ปีนี้  หนึ่งในนั้นคือ “นายตะเปาะ งามยิ่ง” เจ้าวัตร หรือผู้ที่เปรียบเสมือนผู้นำทางจิตวิญญาณ ที่ถูกจับในข้อหารุกป่า เพียงเพราะเข้าไปทำกินในพื้นที่ไร่ซากของตนเอง ที่มีเนื้อที่เพียง 2 ไร่ นอกจากนี้ การประกาศเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งสองแห่ง กลายเป็นเงื่อนไขและเครื่องมือสำคัญที่ทำให้หน่วยงานรัฐฉกฉวยที่ดินจากเกษตรกรไปอย่างแยบยล โดยไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย

การสูญเสียที่ดินครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2539 เมื่อชาวบ้านจำนวน 14 ครัวเรือนได้รับแจ้งจากผู้นำชุมชนว่าจะมีการสร้างสถานีพัฒนาอาหารสัตว์สุพรรณบุรี บนพื้นที่ทำกินของพวกเขา จึงได้แสดงจุดยืนคัดค้านและตรวจสอบที่มา เนื่องจากชาวบ้านส่วนหนึ่งได้รับมอบเอกสารสิทธิในการถือครองที่ดินเพื่อทำการเกษตรประเภท ส.ป.ก. 4 -94 จากสำนักปฏิรูปที่ดินสุพรรณบุรี จึงแปลกใจว่าเหตุใด กรมป่าไม้ จึงมีอำนาจอนุญาตให้กรมปศุสัตว์เข้ามาดำเนินโครงการได้ เรื่องนี้ได้รับการชี้แจงภายหลังว่า เอกสาร ส.ป.ก. 4 – 94 เป็นการแจ้งผลการสำรวจเบื้องต้น แต่ยังไม้ได้ประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาเป็นพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร หรือ ส.ป.ก. 4 -01 เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้  หลังจากนั้นกรมปศุสัตว์ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนให้เข้าไปไถที่ดินเพื่อเตรียมพื้นที่โครงการ ปรากฎว่าพืชผลอาสินที่ยังไม้ได้เก็บเกี่ยวจำนวนมากถูกทำลายลง

เมื่อสูญเสียที่ดินที่กำลังทำกินอยู่ในปัจจุบัน ชาวบ้านที่ 14 ครัวเรือนก็ขยับขึ้นไปทำกินในพื้นที่ไร่ซากของตนเอง ที่ตั้งอยู่นอกเหนือขอบเขตโครงการสถานีพัฒนาอาหารสัตว์ฯ  แต่ผลปรากฎว่ายังไม่ทันตั้งตัวได้เต็มที่ ปี พ.ศ. 2541 พื้นที่ดังกล่าวถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติพุเตย โดยไม่ได้สำรวจและกันที่ดินทำกินของชาวบ้านออกจากเขตอุทยานฯ ชาวบ้านจึงต้องย้ายลงไปทำกินที่ไร่ซากเดิมบริเวณบ้านห้วยพุ และบ้านป่าผาก

เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ต่อมาจังหวัดสุพรรณบุรีได้ดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่ดังกล่าวจากกรมป่าไม้ เพื่อให้กรมชลประทานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเก็บน้ำองค์พระ เนื้อที่ขนาด 350 ไร่ ซึ่งทับที่ทำกินของราษฎรป่าผากอีกเช่นเดียวกัน  ชาวบ้านจึงต่อร้องเรียนให้กรมป่าไม้อนุญาตให้ทำกินเหนือพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เนื้อที่ประมาณ 1200 ไร่ แต่ไม่ได้รับการอนุญาต โดยให้เหตุผลว่าเป็นแปลงปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และได้ถวายพื้นที่ดังกล่าวไปแล้ว


[i] รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานฯ เลขที่ 52/2549

Figure 1 พื้นที่ทำกินที่ได้รับการจัดสรรชั่วคราว

กระบวนการแก้ไขปัญหา

นับตั้งแต่ปี 2538 ราษฎรป่าผากสูญเสียที่ดินทำกิน ก็พยายามร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่า ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน และหน่วยงานอิสระอย่างสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กสม. เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ตามคำร้องที่ 2472547 กสม. ได้รับคำร้องและดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมทั้งใช้ช่วงเวลาระหว่างการตรวจสอบ เปิดเวทีเจรจาเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนด้วย เช่น เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2548 มีการประชุมร่วมกันระหว่างชุมชน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกรมป่าไม้ หัวหน้าสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ สำนักบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 เป็นต้น ซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ชาวบ้านป่าผากได้รับความเดือดร้อนจริง โดยให้เร่งจัดหาพื้นที่ทำกินภายในปีนั้นไปก่อนอย่างน้อย 50 ไร่ บริเวณสถานีอาหารสัตว์ 

นับตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านยังคงทำกินต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ และพยายามรักษาวิถีไร่หมุนเวียนไว้บนเนื้อที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด  พร้อมกันนี้ ชาวบ้านเข้าใจว่าได้รับการจัดสรรที่ดินเพิ่มเติมภายหลังอีก 56 ไร่ จากกรมชลประทาน ปัจจุบันจึงมีที่ดินทำกินรวมทั้งสิ้น 106 ไร่ แต่ยังถือเป็นการทำกินชั่วคราว ยังไมได้รับการรับรองสิทธิอย่างถาวรแต่ประการใด  ปัจจุบันชาวบ้านทั้ง 14 ครอบครัวยังเดินหน้าเรียกร้องขอที่ดินเดิมประมาณ 361 ไร่คืนมาดังเดิม พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการรับรองสิทธิในที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน และปฏิเสธการจัดการที่ดินตามรูปแบบคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช.

Figure 2 ชาวบ้านกำลังเกี่ยวข้าวจากไร่หมุนเวียนของตนเอง
admin

Leave a Reply