“นายตะเปาะ งามยิ่ง ผู้นำทางจิตวิญญาณกะเหรี่ยงบ้านป่าผาก ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาบุกรุกป่า”

สถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนชนเผ่าพื้นเมือง โดยเครือข่ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย
สรุป
เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2548 นายตาเปาะ งามยิ่ง ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงโผล่ง (เจ้าวัตร) บ้านป่าผากองค์พระ หมู่ที่ 2 ตำบล วังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติพุเตย แจ้งความดำเนินคดีในความผิดฐานบุกรุก แผ้วถาง ยึดถือครองพื้นที่ป่า ขนาด 2 ไร่ 0 งาน 96 ตารางวา พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหายจากนายตาเปาะ จำนวน 152,867.05 บาท บวกดอกเบี้ยอีก 31,052.96 บาท แต่จำเลยได้ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและต่อสู้คดีมาจนถึงปัจจุบันนี้ เนื่องด้วยมองว่าชาวบ้านอยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ และพื้นที่ดังกล่าวเป็นไร่ข้าวหมุนเวียนเดิม ไม่ได้เป็นการบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่าใหม่ตามที่ถูกกล่าวหา อนึ่ง การดำเนินคดีกับผู้นำทางจิตวิญญาณสร้างผลกระทบต่อความรู้สึกของชาวบ้านเป็นอย่างมาก
ความเป็นมา
บ้านป่าผากองค์พระ ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง เดิมเป็นตำบลองค์พระ ขึ้นกับกิ่งอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี มีประชากรประมาณ 40 กว่าหลังคาเรือน ตั้งชุมชนและสืบทอดวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงต่อกันมากว่า 220 ปี ดังปรากฎหลักฐานตามหนังสือของอำมาตย์เอกขุนอนุพิศวิถีถาร แม่กองรังวัดภูมิประเทศในสนาม ฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2463 ปรากฎว่ามีชุมชนกะเหรี่ยงบ้านป่าผากองค์พระอยู่แล้ว ดังนั้น ชุมชนจึงตั้งอยู่ก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาองค์พระ ป่าเขาพุระกำ และป่าเขาห้วยพลู[1] เมื่อ พ.ศ. 2506 และเขตอุทยานแห่งชาติพุเตย ในปี พ.ศ. 2541
นับตั้งแต่ก่อตั้งชุมชนมา ชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าผาก และบริเวณใกล้เคียงก็ดำเนินวิถีชีวิตดั้งเดิม ทำกินด้วยระบบไร่หมุนเวียนเฉกเช่นชุมชนชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่อื่น ๆ ชาวบ้านที่นี่ จัดอยู่ในกลุ่มชาวกะเหรี่ยงโผล่งด้ายเหลือง กล่าวคือใช้ด้ายสีเหลืองผูกข้อมือหรือประกอบพิธีกรรมสำคัญ โดยผสมความเชื่อบรรพชนเข้ากับศาสนาพุทธ ดังนั้นแต่ละพื้นที่จะมีผู้นำทางจิตวิญญาณ ที่เชื่อกันว่าจะได้รับการคัดเลือกโดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์แลสืบทอดตำแหน่งผ่านทางสายตระกูล โดยเรียกว่า “เจ้าวัตร” ตำแหน่งนี้สามรถสืบทอดต่อได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
ผู้ได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าวัตร จะต้องเป็นผู้ที่รอบรู้ มีจริยาวัตรที่ดี วางตนอย่างเหมาะสมเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นที่เคารพของสมาชิกชุมชน ดังนั้น “เจ้าวัตร” นอกจากเป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ปกครอง ยังถือว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่สำคัญยิ่งของหมู่บ้าน
ลุงตะเปาะ งามยิ่ง ผู้สืบทอดตำแหน่งดังกล่าว ได้วางตนอย่างสมถะ น่าเคารพ เป็นเสาหลักของชุมชนอย่างเข้มแข็งเสมอมา เช่นเดียวกับที่รุ่นบรรพชนได้สร้างแนวทางไว้ ผู้ถือครองตำแหน่งนี้ ทางหนึ่งยังถือเป็นปุถุชนที่ยังต้องทำมาหาเลี้ยงชีพเหมือนคนทั่วไป แต่มีข้อวัตรที่ต้องถือปฏิบัติเป็นการเฉพาะด้วย สำหรับลุงตะเปาะ ก็ยึดถือการทำไร่หมุนเวียน เหมือนกับลูกบ้านครอบครัวอื่น ๆ จนไม่คิดไม่ฝันว่า เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2548 จะถูกแจ้งความดำเนินคดีในความผิดฐานบุกรุก แผ้วถาง พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทั้ง ๆ ที่ทำกินในแปลงที่ได้หมุนเวียนมาแต่เดิม นับตั้งแต่นั้นมา เจ้าวัตรพร้อมทั้งบุคคลที่เป็นพยานต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างยืดเยื้อ ตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน ชั้นอัยการ จนถึงชั้นศาล สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการปฏิเสธวิถีชีวิตดั้งเดิมของชนเผ่าพื้นเมือง สร้างภาระค่าใช้จ่ายแก่ชาวบ้านที่อยู่อย่างสมถะ บันทอนกำลังใจและท้าทายศรัทธาของชุมชน
[1] ปี พ.ศ. 2506 ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำ และป่าเขาห้วยพลู ก่อนจะมีการเพิกถอนออกจากการเป็นพื้นที่ป่าสงวน เพื่อจัดสรรเป็นนิคมสร้างตนเอง ในปี 2523 สมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา แต่ต่อมาได้ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติพุระองค์พระฯ ในปี พ.ศ. 2541
ความคืบหน้า
สำหรับคดีนี้ นายตะเปาะ งามยิ่ง ได้รับความช่วยเหลือจากสภาทนายความ โดยมี ร.ต.ต. สุรศิษฎ์ เหลืองอรัญญา เป็นทนายความให้ เบื้องต้นเสนอแนวทางการต่อสู้ดังนี้
- ต่อสู้ด้วยเห็นว่าคดี “หมดอายุความ” เนื่องจากคดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2548 แต่โจทก์ได้อ้างว่ารู้ถึงการกระทำผิด และรู้ตัวจำเลยที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 แต่ในการแจ้งความร้องทุกข์เมื่อวันที่ 18 พฤษภา
- ประเด็นการเรียกค่าเสียหายที่โจทย์นำมาแสดงในชั้นศาลนั้น จำเลยเห็นว่าไม่มีบันทึกต้นฉบับ และไม่มีการบรรยารายการค่าเสียหายอย่างละเอียด จึงไม่รับรองและขอปฏิเสธ
สำหรับความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ศาลได้นักสืบพยานฝ่ายโจทก์และจำเลย และได้นัดหมายสืบพยานฝ่ายจำเลยเพิ่มเติมอีกครั้งในวันที่ 17 ธันวาคม 263 ซึ่งคาดว่าน่าจะมีคำวินิจฉัยในต้นปี 2564
Leave a Reply