ผลกระทบจากการประกาศเขตห้ามล่าพันธุ์สัตว์ป่านันทบุรี อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีประกาศกำหนดให้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าอมก๋อย ในท้องที่ตำบลยางเปียง ตำบลม่อนจอง และตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อยจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเขตห้ามล่าสัวต์ป่า เนื้อที่ประมาณ 180,249 ไร่ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 และถูกบรรจุไว้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 มีรายชื่อสัตว์ป่าห้ามล่าแนบท้ายประกาศทั้งสิ้น 416 ชนิด และต่อมาได้นำสัตว์ป่าจากหน่วยเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์ป่าหลายแห่งมาปล่อยเพิ่มเติมในพื้นที่ ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากถูกสัตว์ป่าเหล่านั้นรบกวน กัดกินพืชผลอาสิน นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีความกังวลถึงผลกระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิม เนื่องจากอาจถูกจำกัดสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น พร้อมทั้งยืนยันว่าไม่เคยเห็นชอบให้มีการประกาศเขตห้ามล่าฯ ในพื้นที่แต่อย่างใด พร้อมกันนี้ยังพบว่ามีความพยายามประกาศเขตห้ามล่าเพิ่มเติมอีกประมาณ 68,775 ไร่
ความเป็นมาของการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่านันทบุรี
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561 ถึงความเป็นมาในการประกาศเขตพื้นที่อนุรักษ์ประเภทต่าง ๆ เพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งสิ้น 102.3 ล้านไร่จากเนื้อที่ประเทศไทย 323 ล้านไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ป่าอนุรักษ์ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จำนวน 73.6 ล้านไร่ ได้แก่พื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า สวนพฤกษศาสตร์สวนรุกขชาติ กระจายอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้นการที่รัฐบาลจะเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ได้ร้อยละ 25 จากเนื้อที่ประเทศไทย ซึ่งเท่ากับจำนวน 80.75 ล้านไร่ ก็จะต้องมีการเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ขึ้นอีกราว 7.15 ล้านไร่ โดยตั้งเป้าให้บรรลุผลภายในปี 2569 หลังจากที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 มีการประกาศเขตพื้นที่อนุรักษ์เพิ่มเติมทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 27 แห่ง มีเนื้อที่รวมกัน 2,167,677 ไร่ ในจำนวนนี้จำแนกเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ 5 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจำนวน 3 แห่ง และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 19 แห่ง รวมถึงเขตห้ามล่าสัตว์ป่านันทบุรี อำเภออมก๋อยด้วย

สำหรับขั้นตอนการประกาศจัดตั้งพื้นที่ป่าอนุรักษ์นั้น นายธัญญา ชี้แจงว่าหน่วยงานซึ่งประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้นำชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ (คปป.) ในระดับจังหวัดก่อนเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพิจารณาให้ความเห็นชอบ หลังจากนั้นจึงเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติหลักการ แล้วส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบตามขั้นตอนของกฎหมาย ก่อนประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่านันทบุรี ในพื้นที่อมก๋อยนั้น เมื่อตรวจสอบกับชาวบ้านแล้วกลับพบว่ากระบวนการขอความเห็นไม่ได้เป็นไปอย่างโปร่งใส ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เคยทราบเรื่องมาก่อน ไม่มีการข้อมูลล่วงหน้า ที่ครบถ้วนและเพียงพอต่อการตัดสินใจ โดยได้รับคำยืนยันจากพยาน (ขอสงวนชื่อ) ว่ามีการทำหนังสือถึงองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อขออนุญาตก่อสร้างอาคารสำนักงานจำนวน 6 ไร่ แต่ปรากฎภายหลังว่ามีการนำหนังสืออนุญาตไปแนบท้ายการขอจัดตั้งเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 180, 649 ไร่ ซึ่งผิดไปจากวัตถุประสงค์เดิม และจากการสุ่มสัมภาษณ์ชาวบ้านนาไคร้ ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่เข้ามาพูดคุยถึงการประกาศเขตห้ามล่าฯ จริง แต่ชาวบ้านมีมติคัดค้าน และกำหนดเงื่อนไขว่า ต้องไม่ประกาศทับเขตที่อยู่อาศัย ป่าใช้สอย และพื้นที่ทำกินของชุมชน แต่ผลปรากฎว่าไม่มีการกันพื้นที่ของชุมชนออกให้ ต่อมามีการปิดป้ายและปักหลักหมุดตลอดริมทาง

รูปที่ 2 ป้ายประกาศและหลักหมุดกำหนดขอบเขตพื้นที่เขตห้ามล่า
หลังจากได้ประกาศจัดตั้งเขตห้ามล่าเสร็จแล้ว ต่อมาเว็บไซต์ของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ เผื่อแพร่ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2561 สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 16 (เชียงใหม่) จัดกิจกรรมโครงการ “ส่งสัตว์ป่าคืนวนา เพื่อป่าสมบูรณ์” ณ หน่วยพิทักษ์ป่าปางตึง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ต.ยางเปียง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ มีการปล่อยสัตว์ป่าทั้งหมด 9 ชนิด ได้แก่ กวางผา 6 ตัว เนื้อทราย 18 ตัว กวางป่า 4 ตัว ละองหรือละมั่งพันธุ์พม่า 4 ตัว เก้ง 2 ตัว นกยูง 14 ตัว ไก่ฟ้าหลังขาว 340 ตัว ไก่ป่าตุ้มหูแดง 249 ตัว และนกแว่นเทา 4 ตัว โดยสัตว์ป่าดังกล่าวได้จากการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยยางปาน จังหวัดเชียงใหม่ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าแม่จัน สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าดอยตุง สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าแม่ลาว จังหวัดเชียงราย และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าปางตอง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น ส่งผลให้สัตว์ป่าจำนวนหนึ่งที่ไม่คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตตามธรรมชาติ เข้าไปกินต้นข้าว และพืชผลอาสินของชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านจับไว้ได้จะโทรศัพท์แจ้งให้เจ้าหน้าที่มารับไป แต่ไม่มีการชดเชยค่าเสียหายใด ๆ ให้แก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ

รูปที่ 3 (ซ้ายล่าง) ร่องรอยนาข้าวที่สเียหายจากสัตว์ป่ากิน (ขวาล่าง) ภาพสัตว์ป่า ที่ชาวบ้านบันทึกไว้ได้
ข้อกังวลของชาวบ้าน
- กังวลว่าพื้นที่เกษตรถูกทำลายจากสัตว์ป่าที่ปล่อยมาใหม่ และไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา
- เกรงว่าจะถูกจำกัดรูปแบบการทำกินตามวิถีชีวิตดั้งเดิม มีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น และจำกัดการเข้าไปใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติตามองค์ความรู้ดั้งเดิม มีรายงานว่าชาวบ้านถูกจับกุมดำเนินคดี เพียงเพราะเข้าไปหาไข่มดแดง
- กังวลต่อการเตรียมประกาศพื้นที่เขตห้ามล่าเพิ่มเติม เนื้อที่ประมาณ 68,775 ไร่ ซึ่งจะสร้างความยากลำบากต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้านมากขึ้น
ข้อเสนอแนะ
- ให้มีการจัดทำข้อมูลภูมิศาตรศ์สารสนเทศร่วมกับชุมชน ทำแผนที่รายแปลง กันพื้ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน และพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนออกจากเขตห้ามล่าสัตว์ป่านันทบุรี
- ยุติความพยายามในการประกาศจัดตั้งเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเพิ่มเติม
อ้างอิง
- แจ้งความกระทรวงมหาดไทย, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 46 หน้า 296 วันที่ 28 เมษายน 2472 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2472/D/296.PDF
- พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอ, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 75 ตอนที่ 55 วันที่ 22 กรกฎาคม 2501 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2501/A/055/321.PDF
- อำเภออมก๋อย วิกีพีเดีย, https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B9%8B%E0%B8%AD%E0%B8%A2
- รายงานสถิติจำนวนประชากรและบ้าน ประจำปี พ.ศ.2561 สำนักงานสถิติแห่งชาติ http://stat.dopa.go.th/stat/statnew/statTDD/views/showDistrictData.php?rcode=50&statType=1&year=61
- รัฐบาลลุย! 3ปี เพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 27 แห่ง กว่า 2 ล้านไร่, เว็บไซต์ข่าว “สปริงนิวส์” https://www.springnews.co.th/thailand/409953
- ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กําหนดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าอมก๋อย ในท้องที่ตําบลยางเปียง ตําบลม่อนจอง และตําบลแม่ตื่น อําเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕