ผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า บ้านผาปูนดง (มังปอย)
ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อหมู่บ้านทางการ คือ บ้านผาปูนดง หมู่ที่ 16 ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภออมก๋อย 13 กิโลเมตร ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือด้วยเส้นทางรถยนต์ที่เข้าถึงหมู่บ้านได้ตลอดทั้งปี แต่ในช่วงฤดูฝนทางเข้าออกหมู่บ้านค่อนข้างลำบากเนื่องจากบางช่วงของเส้นทางเป็นถนนดินและตัดผ่านลำน้ำลำห้วย
หมู่บ้านผาปูนดง ประกอบด้วย 4 หย่อมบ้าน คือ บ้านผาปูนดง บ้านมังปอย บ้านเด่นกระต่าย และบ้านดอยหมี ทั้ง 4 หย่อมบ้าน มีบ้านมังปอยเป็นหมู่บ้านศูนย์กลางเนื่องจากเป็นหย่อมบ้านขนาดใหญ่และเป็นเส้นทางผ่านของหย่อมบ้านทั้ง 3 หย่อมบ้านเดินทางไปยังอำเภออมก๋อย
ภาพที่ 1 แผนที่แสดงที่ตั้งหมู่บ้านผาปูนดง (มังปอย) หมู่ 16 ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่
ประวัติหมู่บ้าน
หมู่บ้านผาปูนดงทั้ง 4 หย่อมบ้าน เป็นหมู่บ้านดั้งเดิมของชนเผ่าพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยง ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่บริเวณเทือกเขาดอยผาปูนมายาวนานหลายช่วงอายุคน โดยมีการตั้งถิ่นฐานเคลื่อนย้ายไปมาในอาณาบริเวณดอยผาปูนเพื่อทำไร่หมุนเวียนและสถานการณ์ตามความเชื่อของชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงดั้งเดิม หลังจากที่ทางการเข้ามาสำรวจและให้มีการตั้งถิ่นฐานถาวรชาวบ้านจึงรวมกลุ่มกันตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณหย่อมบ้านมังปอย โดยขึ้นอยู่กับหมู่ 2 บ้านยางเปา หลังจากนั้นจึงได้แยกหมู่บ้านออกมาตั้งหมู่บ้านใหม่รวมกับหมู่บ้านผาปูน เป็นหมู่ที่ 7
ภายหลังมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงได้ขอแยกหมู่บ้านออกจากบ้านผาปูนหมู่ 7 มาจัดตั้งเป็นหมู่ที่ 16 บ้านผาปูนดง โดยมีนายหว่างควา โชคชัยวรรณศิริ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นที่ราบระหว่างภูเขาและที่ราบริมแม่น้ำมีข้อจำกัดด้านขนาดพื้นที่ เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น จึงทำให้ขาดพื้นที่ตั้งบ้านเรือน ชาวบ้านจึงได้แยกกันไปตั้งบ้านเรือนใกล้พื้นที่ทำกินของตนเองเกิดเป็นหย่อมบ้านใหม่อีก 3 หย่อมบ้านดังเช่นปัจจุบัน (ดูภาพ 1 ประกอบ)
หมู่บ้านผาปูนดง เริ่มได้รับการบริการด้านไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเมื่อปี พ.ศ. 2542 และในช่วงเวลาเดียวกันได้รับการพัฒนาด้านเส้นทางคมนาคมเพื่อการสัญจรและขนส่งพืชผลทางการเกษตรออกจากหมู่บ้านไปสู่อำเภอ รวมถึงการพัฒนาระบบประปาภูเขาช่วยอำนวยความสะดวกด้านน้ำอุปโภคบริโภคแก่ชาวบ้านได้นับแต่นั้นมา
ประชากรและบ้าน
ชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านผาปูนดง หมู่ 16 มีประชากร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 จำนวนทั้งสิ้น 689 คน บ้าน 208 หลังคาเรือน ประชากรจำแนกเป็นเพศชาย 361 คน และหญิง 328 คน โดยประชากรมีสัดส่วนคงที่จากปีพ.ศ. 2561 แต่ลดลงจากปี พ.ศ. 2560 จำนวน 5 คน โดยสาเหตุมาจากมีประชากรตายมากกว่าประชากรเกิดใหม่ ส่วนการย้ายเข้า-ย้ายออกของประชากรในหมู่บ้านเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้ง 3 ปี ในขณะเดียวกันจำนวนบ้านมีจำนวนเพิ่มขึ้น 8 และ 4 หลังคาเรือนในปี พ.ศ. 2561 และ 2562
ตาราง 1 ข้อมูลประชากรและบ้านของหมู่บ้านผาปูนดง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – 2562
การปกครอง
หมู่บ้านผาปูนดง หมู่ 16 เป็นหมู่บ้านขึ้นทะเบียนหมู่บ้านตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 จึงมีผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับการคัดเลือกจากประชากรในหมู่บ้านมาดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน โดยมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2 คน และคณะกรรมการหมู่บ้าน 7 คน รวมถึงมีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลอีก 2 คนทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนประชากรในหมู่บ้าน ประกอบด้วย
สถานการณ์ด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านการใช้ที่ดิน เขตแดนและทรัพยากร
นโยบายภาครัฐเกี่ยวกับการอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะแนวนโยบายด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ให้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ เป็นเป้าหมายในการสั่งการให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเร่งดำเนินการขับเคลื่อนและผลักดันตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายการพัฒนาประเทศตาม SDGs ที่ให้การรับรองไว้กับสหประชาชาติ
กระบวนการ วิธีการ และขั้นตอนการเร่งรัดอนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟู รวมถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ ตามแนวคิดและแนวปฏิบัติของภาครัฐเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามที่ตั้งเป้าหมาย นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 การดำเนินการตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 64/2557 และ 66/2557 เรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และการบูรณาการหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงกลาโหม (ทหาร) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการปราบปรามและจับกุมผู้บุกรุก ยึดถือครอบครอง ทำลาย หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่า ให้ได้ผลอย่างจริงจังในทุกพื้นที่ ได้เริ่มปรากฎสถาการณ์ด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่ขยายวงกว้างขึ้น
เหตุการณ์ที่เกิดในหมู่บ้านผาปูนดง (มังปอย)
หมู่บ้านผาปูนดง (มังปอย) เป็นหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าดอยผาปูนมาอย่างยาวนานสืบทอดหลายช่วงอายุคน และอยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าอมก๋อย ที่ประกาศเมื่อ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2518 และเป็นการประกาศทับพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินของชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านผาปูนดง รวมถึงหมู่บ้านอื่นๆ ในพื้นที่
เหตุการณ์ละเมิดสิทธิด้านที่ดิน เขตแดน และการใช้ทรัพยากรของชาวกะเหรี่ยงบ้านผาปูนดง (มังปอย) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2559 เมื่อมีเจ้าหน้าที่ราชการเข้ามาบุกยึดพื้นที่ทำกินของชาวบ้านบริเวณทิศตะวันตกของหมู่บ้านขนาดพื้นที่รวม 250 ไร่ มีชาวบ้านที่ถือครองและทำประโยชน์ที่ดินปลูกข้าวไร่และพืชเศรษฐกิจเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัวในพื้นที่ดังกล่าว 20 ครอบครัว
ภาพ 2 แสดงขอบเขตและตำแหน่งพื้นที่ถูกละเมิดสิทธิชุมชนด้านที่ดินของชาวกะเหรี่ยงมังปอย
จากคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบระบุว่า ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าบุกยึดพื้นที่ทำกิน อธิบดีกรมป่าไม้ได้นั่งเครื่องบินสำรวจพื้นที่ป่าและส่งพิกัดทางอากาศให้หน่วยในพื้นที่เข้าทำการยึด ช่วงแรกมี ๓ แปลง ได้แก่ บ้านน้อยพลังงาน, บ้านมังปอย, บ้านทุ่งจำเริง เบื้องต้นแกนนำได้ส่งเรื่องร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) แล้ว จากนั้นเจ้าหน้าที่จาก กสม. ได้ลงพื้นที่ซักถามชาวบ้าน และมีทีมจากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน. ) เข้ามาให้ข้อมูลและองค์ความรู้พื้นฐานให้ชาวบ้าน ส่วนผู้นำหมู่บ้านไม่ได้เคลื่อนไหว ใด ๆ พื้นที่ที่โดนยึดมีทั้งกลุ่มบ้านน้อยพลังงานที่ถูกอพยพมาจากบ้านตองสัก และกลุ่มชาวบ้านดั้งเดิม แม้กระทั่งที่นาก็ถูกยึดคืนด้วย ชาวบ้านบางคนสิ้นไร้ที่ทำกินถาวร และบางคนต้องไปเช่าที่ของคนอื่นปลูกมะเขือเทศ
เนื้อที่ที่ถูกยึดคืน
บ้านมังปอย 250 ไร่
บ้านน้อยพลังงาน 100 ไร่
บ้านทุ่งจำเริญ ประมาณ 200 กว่าไร่ หลังจากยึดที่ทำกินของชาวบ้านแล้ว มีหน่วยงานเข้ามาปลูกป่า (ต้นสัก) โดยการว่าจ้างให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ
ภาพที่ 3 แสดงตำแหน่งการปักป้ายปลูกป่าของกรมป่าไม้ในพื้นที่ละเมิดสิทธิชุมชนกะเหรี่ยงมังปอย
ตาราง 2 ข้อมูลชาวกะเหรี่ยงบ้านผาปูนดง (มังปอย) ที่ได้รับผลกระทบ
หมายเหตุ: ข้อมูลจากการสำรวจครัวเรือน สิงหาคม 2562 จำนวนที่ดินรวมที่ถูกตรวจยึด 250 ไร่ เป็นพื้นที่รวมแนวลำห้วย ลำธาร และพื้นที่รักษาป่าตามระบบนิเวศของชาวกะเหรี่ยง จึงไม่ตรงกับพื้นที่ถือครองของ 20 ครัวเรือน