สถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนชนเผ่าพื้นเมือง กรณี นักปกป้องสิทธิ์ถูกฟ้องปิดปาก

สถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนชนเผ่าพื้นเมือง กรณี นักปกป้องสิทธิ์ถูกฟ้องปิดปาก

สถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนชนเผ่าพื้นเมือง กรณี นักปกป้องสิทธิ์ถูกฟ้องปิดปาก

SLAPP Against IPHRDs at Omkoi District

1. ความเป็นมา

จากการเสียสละในการลุกขึ้นมาปกป้องชุมชนจากเหมืองแร่ถ่านหิน ที่บ้านกะเบอะดิน ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

ส่งผลให้นักปกป้องสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองจำนวน 2 รายถูกฟ้องร้องโดยบริษัทเอกชน ในข้อหาหมิ่นประมาทและอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท เบื้องต้นผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองได้รับทราบข้อกล่าวหาและให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน จดทำสำนวนเพื่อส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาว่าจะมีคำสั่งให้ฟ้องหรือไม่ต่อไป

            สืบเนื่องจาก เฟสบุ๊คเพจ “ส่องกล้องมองอมก๋อย” ได้เผยแพร่ประกาศของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 25 เมษายน 2562 ซึ่งปิดประกาศไว้ ณ ที่ว่าการอำเภออมก๋อย แจ้งให้ทราบว่ากำลังจะมีการขอสมัปทานเหมืองแร่ถ่านหินที่บ้านกะเบอะดิน หมู่ 12 ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 284 ไร่ 30 ตารางวา ทำให้ชาวอำเภออมก๋อยจำนวนมากตื่นตัวและแสดงพลังคัดค้านการให้สัมปทานเหมืองแร่ถ่านหินแก่บริษัทเอกชน จึงได้ร่วมกันลงชื่อในจดหมายคัดค้านยื่นต่อนายอำเภออมก๋อย เพื่อดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

            หลังจากนั้นได้มีการก่อตั้งเครือข่าย “ยุติเหมืองแร่” ขึ้นมา เพื่อรณรงค์คัดค้านการให้สัมปทานเหมืองแร่ถ่านหิน โดยการร่วมตัวกันของกลุ่มคนที่หลากหลาย ที่ชาวบ้านกะเบอะดินที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ชุมชนใกล้เคียงและบุคคลต่าง ๆ ที่อยู่ในตัวอำเภออมก๋อย มีการจัดกิจกรรมต่อเรื่องเป็นระยะ รวมทั้งมีการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ณ ที่ว่าการอำเภออมก๋อย เมื่อวันที่ 5 มินายน 2562 เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งในวันดังกล่าวนี้เอง บริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด ได้มอบอำนาจให้ทนายความ รวบรวมพยานหลักฐานจากแลถงการณ์และคำปราศัยของแกนนำบนเวทีไปแจ้งความดำเนินคดีกับนายองอาจ มิเง  พร้อมด้วย นายภาณุวัฒน์ ฝนเมฆ ชาวกะเหรี่ยงโผล่ง แกนนำต้านเหมืองถ่านหินในข้อหาหมิ่นประมาท โดยแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

            ผู้ต้องหาทั้งสองรายถูกแจ้งความในความผิดฐาน ““หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฎไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือ สิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษรกระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น”  เบื้องต้นนักปกป้องสิทธิ์ฯ ทั้งสองรายให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอให้ปากคำเพิ่มเติมเป็นลายลักอักษร

            อนึ่ง การฟ้องร้องดำเนินคดีในลักษณะนี้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนประเภทหนึ่ง เนื่องจากเข้าข่ายการฟ้องปิดปาก หรือ Strategic Lawsuit Against Public Participation – SLAPP เนื่องจากบุคคลทั้งสองมิได้มีเจตนากล่าวร้ายหรือจงใจให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใด เพียงแต่เป็นการแสดงออกตามสิทธิและเสรีภาพที่พึงมีและได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

2. ลำดับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับคดี

26 เมษายน 2562 ชาวบ้านพบประกาศของอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ปิดประประกาศไว้ ณ ที่ว่าการอำเภออมก๋อย แจ้งให้ประชาชนทราบว่า บริษัท 99 ธุวานนท์ กำลังขอประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหินที่บ้านกะเบอะดิน ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่  ชาวบ้าน 28 รายทำจดหมายคัดค้านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที
24 พฤษภาคม 2562 ชาวอมก๋อยในนาม “เครือข่ายยุติเหมืองแร่” ทำหนังสือถึงนายอำเภออมก๋อย เพื่อร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีคำสั่งระงับกระบวนการสัมปทานเหมืองแร่ถ่านหิน
5 มิถุนายน 2562 ชาวอมก๋อยประมาณ 2000 คน ร่วมเดินขบวนเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก แสดงเจตนารมณ์คัดค้านเหมืองแร่ มีการขึ้นเวทีปราศรัย และอ่านแถลงการณ์
27 สิงหาคม 2562 อุตสาหกรรมจังหวัดและคณะกรรมการแร่ฯ มาทำความเข้าใจและตอบข้อสงสัยชาวบ้านเกี่ยวกับกระบวนการขอประทานบัตร แต่ไม่ชี้ชัดว่าจะขอทำอีไอเอใหม่ได้หรือไม่
9 กันยายน 2562 อุตสาหกรรมจังหวัดปิดประกาศ ให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ เข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 46 วรรคสอง ของ พรบ. แร่ ปี 60 ในวันที่ 28 กันยายน 62 ที่โรงเรียนบ้านแม่อ่างขาง ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
19 กันยายน 62 ชาวบ้านรวมตัวที่ศาลากลางเชียงใหม่ ยืนหนังสือถึงผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ให้สั่งเลื่อนเวทีประชาพิจารณ์ออกไปก่อน แต่ได้รับคำตอบจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องว่าจำเป็นต้องจัดให้เป็นไปตามกรอบกฎหมาย
28 กันยายน 2562 อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ จัดเวทีรับฟังความเห็นจากชาวบ้านในพื้นที่ ณ โรงเรียนบ้านแม่อ่างขาง แต่มีพลังมวลชนมาล้นห้องประชุม คาดการณ์ว่ามีประมาณ 2 – 3 พันคน จึงทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเลื่อนเวทีรับฟังความเห็นออกไปอย่างไม่มีกำหนด
12 ตุลาคม 2562 แกนนำทั้งสองเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวน สภ. อมก๋อย โดยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และให้ให้การเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษร และรับหมายนัดรายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562
12 พฤศจิกายน 2562 แกนนำทั้งสองพร้อมด้วยทีมทนายความ พยาน และผู้สังเกตการณ์เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรายงานตัวตามหมายนัด และยังยืนยันให้การปฏิเสธพร้อมทั้งขอให้การด้วยลายลักษณ์อักษรเช่นเดิม  

3. การให้ความช่วยเหลือ

เนื่องจากการติดตามสถานการณ์ละเมิดสิทธิชุมชนชนชนเผ่าพื้นเมืองในพื้นที่อำเภออมก๋อย เป็นการทำงานร่วมกันในลักษณะองต์กรภาคีหลายองค์กร  สำหรับการให้ความช่วยเหลือในกระบวนการยุติธรรมชั้นพนักงานสอบสวน ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชน ร่วมกับมูลนิธิเพื่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับผิดชอบในการจัดหาทนายความ

            หลังจากนี้ หากพนักงานสอบสวนจัดทำสำนวนเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องนำส่งให้กับสำนักงานอัยการเพื่อขอความเห็นว่าจะมีคำสั่งให้ฟ้องหรือไม่ และถ้าหากมีการฟ้องศาลองค์กรต่าง  ๆ จะต้องช่วยกันระดมทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีในชั้นศาล ซึ่งเบื้องต้นมีการเสนอให้ขอใช้งบประมาณจากโครงการ EIHPRDs จาก AIPP

            ขณะเดียวกันมูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยเครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง จะคอยหนุนเสริมด้านข้อมูลและการสื่อสาร

admin